การเพิ่มสมรรถนะการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดแก่บุคคลในครอบครัว โรงพยาบาลแพร่
ทิพาพรรณ คำห้าง พย.บ., สุนิสา ปัทมาภรณ์พงศ์ พย.ม. , พิกุล อภิชาติวรกุล พย.บ.
สิรินธร สงวนเจียม พย.บ.
หอผู้ป่วยหลังคลอดโรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: การดูแลมารดาและทารกภายหลังคลอดจะพบว่าการปรับบทบาทการเป็นมารดา การสร้างสัมพันธภาพระหว่างมารดาและทารก การให้นมบุตร และการดูแลตนเองเป็นปัญหาสำคัญ โปรแกรมการเพิ่มสมรรถนะแก่บุคคลในครอบครัวในการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดอาจทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับการส่งเสริมด้านความรู้ และทักษะในการดูแลมารดาหลังคลอด และทารก ได้อย่างเหมาะสม
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรม และทักษะในการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดของบุคคลในครอบครัวที่ได้รับโปรแกรมการเพิ่มสมรรถนะการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดแก่บุคคลในครอบครัวในโรงพยาบาลแพร่ กับบุคคลในครอบครัวที่ได้รับการดูแลตามปกติ
รูปแบบการศึกษา: การทดลองทางคลินิก แบบมีกลุ่มควบคุมที่แยกกันด้วยช่วงเวลา
สถานที่ศึกษา: หอผู้ป่วยหลังคลอด โรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: ศึกษาบุคคลในครอบครัวที่ดูแลมารดาและทารกหลังคลอด ในโรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่เดือน มกราคม 2555 ถึงเดือนสิงหาคม 2555 โดยกำหนดการศึกษาเป็นระยะเวลา 8 เดือนแบ่งเป็นกลุ่มควบคุมในระยะ 4 เดือน กลุ่มทดลอง 4 เดือน ผู้วิจัยจะเริ่มทำการศึกษาในกลุ่มควบคุมจนจำหน่ายกลับบ้านก่อน แล้วจึงเริ่มทำการศึกษาในกลุ่มทดลองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนของผลการวิจัย รวบรวมข้อมูล โดยแบบบันทึกลักษณะทั่วไป แบบสอบถามพฤติกรรมบุคคลในครอบครัวในการดูแลมารดาและทารกหลังคลอด แบบสอบถามความพึงพอใจและ แบบสอบถามการเจ็บป่วยของมารดาและทารก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ t-test และ rank sum test
ผลการศึกษา: ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ส่วนใหญ่มีอายุใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีพรับจ้าง สามีเป็นผู้ดูแลและ มีประสบการณ์ในการดูแลมารดาและทารก กลุ่มทดลองมีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 8412.9 บาทต่อเดือน กลุ่มควบคุมมีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 9917.6 บาทต่อเดือน กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีสื่อบุคคลและหนังสือ/แผ่นพับเป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนความรู้ร้อยละ 54.5และ ร้อยละ 40.9 ตามลำดับ ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม คลอดทางช่องคลอดและผ่าตัดทางหน้าท้องใกล้เคียงกัน(p=0.521)ค่าเฉลี่ยน้ำหนักทารก ในกลุ่มทดลอง 3181.6 กรัม และกลุ่มควบคุม 3105.9 กรัม เมื่อวัดค่าไมโครบิลิรูบินของทารกหลังคลอด 48 ชั่วโมงไม่แตกต่าง(p=0.601) ส่วนพฤติกรรมของบุคคลในครอบครัวในการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดทั้ง 3 ด้าน ในระยะก่อนจำหน่ายกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพมารดาและด้านการดูแลสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมแต่กลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการช่วยเหลือด้านจิตใจสูงกว่ากลุ่มควบคุม(p=0.019) เมื่อติดตามในระยะ 2 สัปดาห์และ 8 สัปดาห์หลังคลอด กลุ่มทดลองมีพฤติกรรมสูงกว่ากลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.001) ระดับระดับความพึงพอใจโดยรวมก่อนจำหน่ายและ ระดับความพึงพอใจต่อลักษณะบริการ คำแนะนำรายกลุ่มร่วมกับชมวีดีทัศน์ การให้คำแนะนำร่วมกับการอ่านหนังสือคู่มือ การช่วยเหลือการดูแลบุตรรายบุคคลแบบเจ้าของไข้และ การสาธิตและทดลองอาบน้ำบุตร กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีระดับความพึงพอใจมากถึงมากที่สุดแตกต่างกัน (p=0.001) เมื่อติดตามการเจ็บป่วยของมารดาและทารกหลังคลอดในระยะ2สัปดาห์ ระยะ 8 สัปดาห์หลังคลอด ทารกในกลุ่มควบคุมมีแนวโน้มสูงขึ้น
ข้อยุติ: โปรแกรมการเพิ่มสมรรถนะการดูแลมารดาและทารกหลังคลอดแก่บุคคลในครอบครัวโรงพยาบาลแพร่ สามารถทำให้กับบุคคลในครอบครัวได้พัฒนาพฤติกรรมและทักษะในการดูแลมารดาและทารกและสามารถช่วยให้มารดาปฏิบัติบทบาทในการดูแลตนเองและทารกได้อย่างเหมาะสมและ มีแนวโน้มว่าอาจส่งผลให้การกลับมารักษาซ้ำของมารดาและทารกลดลงได้
คำสำคัญ: มารดาหลังคลอด , การดูแลทารก ,บุคคลในครอบครัว |