ผลของระยะเวลาการงดสูบบุหรี่ของผู้ป่วยสูบบุหรี่ที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย
ต่อภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ
สุทิวา สุริยนต์ พยม. สุภาภรณ์ แก้วมา พยบ. ชลภัสสรณ์ สุวรรณศรวล
งานวิสัญญีวิทยา กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: ผู้ป่วยสูบบุหรี่ที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจในทุกระยะ เพิ่มความต้องการการดูแลรักษาระบบหายใจหลังผ่าตัดสูงขึ้น พบว่ายังขาดแนวปฏิบัติการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ชัดเจนสำหรับการงดสูบบุหรี่เพื่อป้องกัน/ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจให้เกิดความปลอดภัยจึงศึกษาหาระยะเวลาการงดสูบบุหรี่ที่เหมาะสมสำหรับเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาระยะเวลาการงดสูบบุหรี่ของผู้ป่วยสูบบุหรี่ที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายต่ออุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ
รูปแบบการศึกษา: การวิจัยเชิงสังเกต (retrospective cohort study)
สถานที่: งานวิสัญญี โรงพยาบาลแพร่
วิธีการศึกษา: การศึกษาในผู้ป่วยสูบบุหรี่ที่มารับการรักษาด้วยการผ่าตัด และได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย ตั้งแต่วันที่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2556 จำนวน 26 คน รวบรวมข้อมูลจากแฟ้มประวัติ ร่วมกับการซักประวัติผู้ป่วย โดยศึกษาข้อมูลผู้ป่วยประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลการสูบบุหรี่ และภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ อธิบายข้อมูลเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่งดสูบบุหรี่กับภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจระยะก่อน ระหว่างการระงับความรู้สึก ระยะฟื้นจากยาระงับความรู้สึก ระยะพักฟื้นและ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ด้วยสถิติ non-parametric for trend test และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจกับระยะเวลาที่งดสูบบุหรี่ด้วย logistic curve ที่ได้จากการวิเคราะห์ logistic regression
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยสูบบุหรี่ที่ได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายจำนวน 26 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ไม่มีโรคประจำตัว และผ่าตัดทางช่องท้อง มีประวัติการสูบบุหรี่ 10-20 มวน/วัน มากกว่า 10 ปี และหยุดสูบบุหรี่ 1 วันก่อนมารับการผ่าตัด โดยการไม่งดบุหรี่ก่อนผ่าตัดมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจในการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ ในระยะฟื้นจากยาสลบ (p=0.056) ระยะพักฟื้น (p=0.003) และภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด (p=0.016) จากการวิเคราะห์ด้วย logistic curve พบว่าระยะเวลาการงดบุหรี่ก่อนผ่าตัด ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไปทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจหลังการระงับความรู้สึกต่ำกว่าร้อยละ 40 และระยะเวลา31-60 วัน เกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจต่ำกว่าร้อยละ 20
ข้อยุติ: ระยะเวลาการงดบุหรี่ก่อนผ่าตัดจะสามารถลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจที่เหมาะสมที่สุดคือ 4-6 สัปดาห์หรืออย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
คำสำคัญ: การงดสูบบุหรี่, การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย, ภาวะแทรกซ้อนระบบทางเดินหายใจ |